โค่นบัลลังก์ ‘พลาสติก’ ด้วย ‘พลาสติกชีวภาพ’

alt123

เราเกิดในยุคที่พลาสติกหลายรูปแบบหลากสีสันคือสินค้าอุปโภคและบริโภคที่อยู่รอบตัวเราทุกที่ทุกเวลา  แต่เบื้องหลังความมหัศจรรย์ของพลาสติกที่สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากมายบนโลกนี้เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์และทำให้เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น กลับมีจุดอ่อนที่ยากจะแก้ไขซ่อนอยู่ด้วย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการย่อยสลายที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ซึ่งกว่ามนุษย์จะรู้ตัวว่าขยะพลาสติกที่ถูกสะสมมานานเพิ่มจำนวนมหาศาลจนเกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกเราในทุกวันนี้ ก็แทบจะไม่ทันการเสียแล้ว

หากมองเพียงแค่แง่มุมเดียว จะเห็นว่าพลาสติกสามารถพลิกชีวิตมนุษย์ให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นและเป็นวัสดุที่ขึ้นแท่นยอดนิยมอันดับหนึ่งในแทบทุกอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ทั้งราคาถูก ขึ้นรูปง่าย ทนทาน แถมยังทำสีสันให้สวยงามได้ตามใจ โดยจุดเริ่มต้นของพลาสติกเกิดจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลงจนต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทน กระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 มนุษย์ได้ค้นพบวัสดุพลาสติกกึ่งสังเคราะห์ชนิดแรก แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากเป็นพลาสติกที่ติดไฟง่ายและระเบิดได้ ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พลาสติกสังเคราะห์ชนิดแรกของโลกจึงได้ถูกค้นพบ ทำให้มนุษย์สร้างสิ่งประดิษฐ์ได้มากมายและพลาสติกก็กลายมาเป็นวัสดุที่ได้ชื่อว่านำมาใช้งานได้หลากหลายนับพันอย่าง (The Material of a Thousand Uses)

จากอตีดจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่าร้อยปีที่พลาสติกแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งบนโลกให้เราได้ใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่มันก็ได้ทิ้งส่วนที่เหลือใช้ไว้เป็นขยะให้เราดูต่างหน้า เมื่อขยะพลาสติกเหล่านี้ถูกสะสมเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและยากต่อการกำจัด มนุษย์จึงเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หลายประเทศหันมารณรงค์และหาวิธีลดขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกใช้ การใช้ซ้ำ หรือการรีไซเคิล แต่นั่นก็อาจยังไม่เพียงพอ จึงมีการพัฒนาวัสดุใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายยาก อย่างเช่นพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวัสดุสําหรับการใช้งานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการกําจัด โดยไบโอพลาสติกจะถูกออกแบบมาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงทำให้คุณสมบัติต่าง ๆ ของพลาสติกลดลงภายในช่วงเวลาหนึ่ง โดยพลาสติกชีวภาพนี้ถูกนำไปใช้ทดแทนพลาสติกในหลายอุตสาหกรรมในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มอุตสาหรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมของเล่นเด็ก

Lego Plants คือหนึ่งในสินค้าพลาสติกชีวภาพจากพืชที่ได้จากต้นอ้อย โดยบริษัท Lego ผู้ผลิตตัวต่อพลาสติกระดับโลกได้พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนพลาสติกแบบเดิมที่ใช้น้ำมันในกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะเป็นวัสดุที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านตัวต่อรูปทรงต้นไม้และใบไม้ โดยได้เชิญชวนเด็ก ๆ ให้นำเลโก้จากพืชนี้ไปต่อร่วมกับเลโก้พลาสติกปกติสร้างเป็นซูเปอร์ฮีโร่ Plantus Maximus ที่มีภารกิจหลักในการปกป้องโลกอีกด้วย โดย Lego ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 สินค้าและบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทจะต้องทำมาจากวัสดุที่ยั่งยืนเท่านั้นบทเรียนจากพลาสติกที่เคยเป็นวัสดุหลักของโลกอุตสาหกรรม ในวันนี้กำลังถูกโค่นแชมป์ลงด้วยวัสดุทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะช่วยเยียวยาและปรับสมดุลให้กับสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เพราะวัสดุที่ดีที่สุดนั้นไม่ใช่เพียงแค่การตอบโจทย์การใช้งาน แต่ต้องปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกวันนี้และวันข้างหน้าได้ด้วย

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/user/KeeleUniversity

ที่มา
บทความ โค่นบัลลังก์ ‘พลาสติก’ ด้วย ‘พลาสติกชีวภาพ’ จาก Creative Thailand (2 ก.ค. 2562)
บทความ “Lego Plants ก้าวใหม่ของเลโก้กับคอลเล็กชั่นวัสดุไบโอพลาสติกจากต้นอ้อย” (19 กุมภาพันธ์ 2562) โดย ธันยพร หงษ์ทอง
บทความ “ประวัติพลาสติก” จาก mtec.or.th/bio-plastic
บทความ พลาสติกย่อยสลายได้นวัตกรรมเพื่อโลก จาก nstda.or.th

เรื่อง : ณัฐณิชาต์ ศิริวัลลภ